วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2550

มาปกป้องสัตว์โลกน่ารักกันเถอะ!!


สัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง (ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535)
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
มีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นมา โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 15 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 และได้ยกเลิกกฎหมายฉบับเดิม จำนวน 2 ฉบับ คือ(1) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503(2) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2515
เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถทำให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสมดังวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ประกอบกับจำเป็นจะต้องเร่งรัดการขยายพันธุ์สัตว์ป่าและให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าควบคู่กันไป และเนื่องจากปัจจุบันได้มีความตกลงระหว่างประเทศในการที่จะร่วมมือกันเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของท้องถิ่นอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ดังนั้น เพื่อปรับปรุงให้มาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้การคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งรวมทั้งสัตว์น้ำด้วย (เนื่องจากคำจำกัดความของ “ สัตว์ป่า ” ตามกฎหมายฉบับนี้รวมถึง “ สัตว์น้ำ ” ) ดังนี้ สัตว์ป่า หมายความว่า สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก แมลง หรือแมง ซึ่งโดยธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำ และให้หมายความรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นทุกชนิดด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะแล้ว และสัตว์พาหนะที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์พาหนะดังกล่าว
โดยมีสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครอง ดังนี้
1. สัตว์ป่าสงวน หมายความว่า สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมีจำนวน 15 ชนิดและตามที่จะกำหนดเพิ่มเติมโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ปัจจุบันยังไม่มีเพิ่มเติม
2. สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายความว่า สัตว์ป่าตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ปัจจุบันมีประมาณ 476 รายการ
3. สัตว์ป่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าที่เป็นชนิดพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ โดยถูกเสนอเข้าอยู่ในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora ( CITES ) ) และมีบัญชีสัตว์ป่าที่อยู่ในประเทศไทยประกาศเพิ่มเติม อนุสัญญา CITES เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในโลกให้คงอยู่คู่โลกมนุษย์ตลอดไป โดยประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2518 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526 ซึ่งปัจจุบันมีประเทศภาคี จำนวน 148 ประเทศ
สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองจะได้รับการคุ้มครอง ดังนี้
1. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการหรือพยายามกระทำการ เก็บ ดัก จับ ยิง หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใด (มาตรา 16)
2. ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะพันธุ์ (มาตรา 18)
3. ห้ามมิให้ผู้ใดครอบครอง (มาตรา 19)
4. ห้ามมิให้ผู้ใด ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้า มีหรือแสดงไว้เพื่อขาย (มาตรา 20)
5. ห้ามนำเข้า-ส่งออก หรือนำผ่าน (มาตรา 23)
แต่อย่างไรก็ตามการห้ามกระทำดังกล่าว มิได้เป็นการห้ามเด็ดขาด มีการเปิดโอกาสให้สามารถกระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การควบคุมโดยการออกใบอนุญาตต่างๆ การออกไปตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับอนุญาต เป็นต้น หรือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งกระทำโดยทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
สัตว์ป่าสงวนจะได้รับการคุ้มครองมากกว่าสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น การเพาะพันธุ์-สัตว์ป่าคุ้มครองสามารถประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ซึ่งบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญสามารถขออนุญาตดำเนินการเพาะพันธุ์และทำการค้าได้ แต่สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองที่ยังไม่ประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ มีเพียงหน่วยราชการและผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะเท่านั้น ที่สามารถดำเนินการขออนุญาตเพาะพันธุ์
บทกำหนดโทษ
ผู้ใดฝ่าฝืนกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามหรือสี่ปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้กระทำความผิดในข้อหาใด
รายการสัตว์ป่าสงวน จำนวน 15 ชนิด มีดังนี้
1. นกเจ้าฟ้าหญิงสิริธร
2. แรด
3. กระซู่
4. กูปรีหรือโคไพร
5. ควายป่า
6. ละองหรือละมั่ง
7. สมันหรือเนื้อสมัน
8. เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ
9. กวางผา
10. นกแต้วแล้วท้องดำ
11. นกกระเรียน
12. แมวลายหินอ่อน
13. สมเสร็จ
14. เก้งหม้อ
15. พะยูนหรือหมูน้ำ
รายการสัตว์ป่าคุ้มครอง มี 7 จำพวก ดังนี้
1. สัตว์ป่าจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม มี 189 รายการ ประกอบด้วยสัตว์ป่าหายากจำพวก กระจง กระรอก ค้างคาว ชะนี วาฬ โลมา ลิง เสือ เป็นต้น
2. สัตว์ป่าจำพวกนก มี 182 รายการ ประกอบด้วยสัตว์ป่าหายากจำพวก ไก่ฟ้า ไก่ป่า นกกระทา นกเขา นกปรอด นกเป็ดน้ำ เป็นต้น 3. สัตว์ป่าจำพวกเลื้อยคลาน มี 63 รายการ ประกอบด้วยสัตว์ป่าหายากจำพวกกิ้งก่า งู จระเข้ ตะพาบน้ำ ตุ๊กแก เต่า เหี้ย เป็นต้น 4. สัตว์ป่าจำพวกแมลง มี 13 รายการ ประกอบด้วยสัตว์ป่าหายากจำพวกด้วงกว่างดาว ผีเสื้อกลางคืนหางยาว ผีเสื้อนางพญา เป็นต้น 5. สัตว์ป่าจำพวกสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก มี 12 รายการ ประกอบด้วยสัตว์ป่าหายากจำพวกกบเกาะช้าง กบท่าสาร กบอกหนาม กะทั่งหรือจักกิ้มน้ำ คางคกขายาว คางคกห้วยมลายู เป็นต้น 6. สัตว์ป่าจำพวกปลา มี 4 ชนิด ดังนี้ ปลาตะพัดหรืออะโรวาน่า ปลาเสือตอหรือเสือลาด ปลาค้างคาวหรือติดหิน และปลาหมูอารีย์ 7. สัตว์ป่าจำพวกไม่มีกระดูกสันหลัง มี 13 รายการ ประกอบด้วยสัตว์ป่าหายากจำพวกปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล ปูเจ้าฟ้า ปูราชินี หอยมือเสือ หอยสังข์แตร เป็นต้น

1 ความคิดเห็น:

*Dean_ned* กล่าวว่า...

**ย่อบ้างก้อดีนาครับ คุนณภัทร**